แนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

แนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

 

    เพื่อให้การดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทเป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายคณะกรรมการบริษัทที่อ้างถึงข้างต้น บริษัทจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้ 

 

    1. การบังคับใช้
        1.1 บรรดาระเบียบ คำสั่ง และบันทึกสั่งการใดที่ขัดแย้งกับแนวปฏิบัตินี้ ให้ยกเลิกและถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้แทน
        1.2 หากแนวปฏิบัตินี้ขัดแย้ง หรือมีข้อความอื่นที่มิได้กล่าวไว้ ให้ถือและบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ
        1.3 ให้แนวปฏิบัตินี้ใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ทุกคน
        1.4 ให้แนวปฏิบัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

 

    2. ความหมาย
        2.1 บริษัท หมายถึง บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
        2.2 บริษัทย่อย หมายถึง บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด
        2.3 บริษัทที่เป็นการร่วมค้า หมายถึง บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน)
        2.4 กรรมการ หมายถึง บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริษัท
        2.5 ผู้บริหาร หมายถึง พนักงานผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป หรือเทียบเท่าขึ้นไป จนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
        2.6 พนักงาน หมายถึง พนักงานของบริษัททุกคน
        2.7 การทุจริตคอร์รัปชัน หมายถึง การกระทำโดยเจตนาหรือจงใจของกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะตัวการ ตัวการร่วม ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ในลักษณะดังต่อไปนี้
              2.7.1 การติดสินบน การจ่ายเงิน ค่าตอบแทนพิเศษ หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะในรูปแบบใด เช่น การเสนอให้ การให้คำมั่นหรือสัญญาว่าจะให้ การมอบให้ เป็นต้น ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมือง พนักงานบริษัทเอกชน หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อโน้มน้าวให้บุคคลดังกล่าวใช้ดุลยพินิจในทางที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัท หรือให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางธุรกิจ หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งจัดว่าเป็นการขัดต่อจริยธรรม เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าให้กระทำได้
              2.7.2 การรับสินบนในรูปของทรัพย์สิน สิ่งของ เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยการขอ การเรียกร้อง การรับหรือยอมจะรับ จากบุคคลหรือนิติบุคคลใด ซึ่งเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้กระทำการหรือละเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ และมีผลทำให้บริษัทเสียประโยชน์
        2.8 ของขวัญและประโยชน์อื่นใด หมายถึง สิ่งของใดๆ หรือบริการใดๆ อาทิเช่น เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของบริการหรืออื่นๆ ที่มีมูลค่า ที่มอบให้หรือได้รับจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคล หรือผู้ซึ่งอาจจะเอื้อความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท ในโอกาสสำคัญต่างๆ ตามประเพณีนิยม วัฒนธรรม มารยาทที่ปฏิบัติในสังคม หรือภายใต้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
        2.9 การเลี้ยงรับรอง หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่ม ที่พักและการเดินทาง หรือการบริการใดๆ ที่มอบให้หรือได้รับจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคล หรือผู้ซึ่งอาจจะเอื้อความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท
        2.10 เงินสนับสนุน หมายถึง เงินที่จ่ายให้หรือได้รับจากลูกค้า คู่ค้า หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้าและช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามความเหมาะสมแก่โอกาส
        2.11 เงินบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การบริจาคเงิน หรือสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด ให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสาธารณกุศล เช่น องค์กรการกุศล มูลนิธิ หรือกองทุน เป็นต้น
        2.12 การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะอยู่ในรูปของทรัพย์สิน สิ่งของ หรือเงิน รวมถึงการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง องค์กรหรือบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และ/หรือการเข้าร่วมกิจกรรมในนามของบริษัท
        2.13 การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ ในลักษณะของสินน้ำใจในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่จ่ายในรูปของตัวเงินและประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท ให้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วหรือปราศจากข้อติดขัด
        2.14 การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door) หมายถึง การที่บุคคลจากภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน หรือบุคคลในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ ในลักษณะที่ทำลายภาพลักษณ์ด้านความน่าเชื่อถือและความซื่อตรงของการทำหน้าที่หรือการจัดทำนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน ในแง่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการทำหน้าที่กำกับดูแลขององค์กรรัฐอย่างไม่เป็นกลาง
        2.15 พนักงานรัฐ หมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครองซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย
        2.16 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง สถานการณ์หรือการกระทำที่ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างของบริษัทฯ มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ที่บุคคลนั้นรับผิดชอบอยู่และส่งผลกระทบ ต่อประโยชน์ของส่วนรวมของบริษัท ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

 

    3. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

        บริษัทได้กำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบแก่คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย กรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะกรรมการจัดการ และผู้บริหาร รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ดังต่อไปนี้
        3.1 คณะกรรมการบริษัท มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติว่าด้วยเรื่อง การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยึดถือและปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร
        3.2 คณะกรรมการตรวจสอบ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน ตลอดจนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติว่าด้วยเรื่อง การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล รวมทั้งกำกับดูแลให้บริษัทย่อย และการร่วมค้า มีการรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบถึงความเหมาะสมและความมีประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายใน และรายงานผลการตรวจสอบภายใน
        3.3 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแล ให้คำปรึกษา และติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติว่าด้วยเรื่อง การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ตลอดจนทบทวน นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติ
        3.4 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานรายงานการบริหารความเสี่ยง จากการทุจริตคอร์รัปชัน และติดตามเพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์กรมีการจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
        3.5 กรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะกรรมการจัดการ และผู้บริหาร มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบการจัดทำและรวบรวมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เหมาะสม มีประสิทธิผล รวมถึงสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและปฏิบัติ
        3.6 สำนักตรวจสอบภายในกลุ่ม มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ ของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสม เพียงพอ และสอดคล้องกับความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

 

    4. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
        4.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม นอกเหนือจากการปฏิบัติตามวิถีเอสเอสไอ (SSI WAY) ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องการตั้งมั่นในจริยธรรม ในปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ในจริยธรรมธุรกิจ และค่านิยมของบริษัท
        4.2 บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและมีมาตรการคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธการกระทำการทุจริต คอร์รัปชัน หรือเป็นผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือ ตามที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติคณะกรรมการบริษัท ว่าด้วยเรื่อง ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
        4.3 ผู้บริหาร และพนักงานที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นการกระทำผิดจริยธรรมของพนักงานและผิดวินัยร้ายแรง จะต้องได้รับการพิจารณาดำเนินการลงโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับบริษัท และ/หรือดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับกรรมการที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง และ/หรือดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
        4.4 บริษัทจะสื่อสารนโยบายและแนวปฏิบัติ ว่าด้วยเรื่อง การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ไปยังบริษัทย่อย บริษัทที่เป็นการร่วมค้า และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

 

    5. การให้หรือรับของขวัญหรือของกำนัล การเลี้ยงรับรองและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
        5.1 ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รับหรือให้ทรัพย์สิน สิ่งของ เงิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน เว้นแต่ เป็นการรับหรือให้ของขวัญตามประเพณี หรือเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล หรือเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างองค์กร ไม่ได้ก่อให้เกิดข้อผูกมัดหรือสร้างภาระให้เกิดความรู้สึกว่าต้องมีการตอบแทนที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชันสามารถกระทำได้ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
              5.1.1 เป็นการให้หรือรับอย่างเปิดเผย ไม่ปกปิด และเป็นการให้หรือรับในนามบริษัทฯ ไม่ใช่ในนามของพนักงาน
              5.1.2 การให้หรือรับของขวัญ หรือผลประโยชน์ใดๆ ตามเทศกาล หรือธรรมเนียมปฏิบัติปกติโดยไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และของขวัญที่ให้หรือรับจะต้องไม่เป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด เช่น บัตรกํานัล บัตรของขวัญ เป็นต้น
              5.1.3 ไม่ให้ของขวัญ ของที่ระลึก ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด แก่คู่สมรส บุตร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐ ลูกค้า คู่ค้า และบุคคลที่ติดต่อด้วย เนื่องจากโดยพฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการรับแทน
              5.1.4 บริษัทฯ จะต้องเก็บรักษาหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่แสดงมูลค่าของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใดทุกรายการ จะต้องมีการลงบันทึกไว้อย่างถูกต้อง มีหลักฐาน เพื่อการตรวจสอบในภายหลัง
        5.2 การเลี้ยงรับรองทางธุรกิจและการจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจซึ่งเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลให้สามารถกระทำได้ โดยให้ถือปฏิบัติตามคู่มืออำนาจดำเนินการ รวมทั้งนโยบายและระเบียบของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะต้องเก็บรักษาหลักฐานที่ระบุถึงหน่วยงานที่รับการรับรอง และจำนวนคนที่เข้าร่วมการเลี้ยงรับรองที่ชัดเจน เพื่อการตรวจสอบได้ในภายหลัง

 

    6. การบริจาค หรือเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุน เพื่อการกุศล หรือสาธารณกุศล หรือสาธารณประโยชน์
        6.1 การให้ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือเงิน แก่บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานราชการใด ต้องมีวัตถุประสงค์ของการให้เพื่อการกุศล หรือสาธารณกุศล หรือเพื่อดำเนินการที่เป็นสาธารณประโยชน์ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน มีกระบวนการดำเนินการให้ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ อธิบายได้ โดยมีการอนุมัติตามคู่มืออำนาจดำเนินการ มีการถือปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบของบริษัทที่เกี่ยวข้อง หรือตามมติคณะกรรมการบริษัท
        6.2 การรับทรัพย์สิน สิ่งของ หรือเงิน จากบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใด ต้องมีวัตถุประสงค์ของการรับเพื่อเป็นตัวกลางในการให้เพื่อการกุศล หรือสาธารณกุศล หรือเพื่อดำเนินการที่เป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป ไม่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน
        6.3 ให้คณะกรรมการจัดการนำเสนอข้อมูลตามข้อ 1 และข้อ 6.2 ให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีทราบเป็นรายไตรมาส เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัททราบต่อไป

 

    7. การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง
        7.1 บริษัทจะไม่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางการเมือง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนหรือให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในทางธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย หรือกิจการที่ควบคุมร่วมกัน
        7.2 บริษัทสามารถที่จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเมืองทั้งในรูปของทรัพย์สิน สิ่งของ หรือเงิน รวมถึงการดำเนินการใดๆ โดยต้องได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการจัดการ และนำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ
        7.3 บริษัทเคารพสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของพนักงานในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น การร่วมชุมนุมทางการเมือง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆของพรรคการเมือง เป็นต้น ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในจริยธรรมของพนักงาน เรื่องการใช้สิทธิทางสังคมและการเมือง ที่ต้องเป็นไปในฐานะส่วนตัว โดยไม่ขัดแย้งกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อบริษัท รวมทั้งต้องไม่ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องหรือฝักใฝ่พรรคการเมืองนั้น

 

    8. การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก
บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายค่าอํานวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะไม่ดำเนินการใดๆ และไม่ยอมรับการกระทำใดๆ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

 

    9. การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door)
บริษัทไม่มีนโยบายการจ้างพนักงานของรัฐ เว้นแต่กรณีจำเป็น ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
        9.1 กรณีบริษัทว่าจ้างพนักงานรัฐ จะต้องไม่เป็นการว่าจ้างได้มาเพื่อการตอบแทนซึ่งประโยชน์ใดๆ หรือมีการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท และมีการคัดเลือก การอนุมัติการจ้าง และการกำหนดค่าตอบแทนดังนี้
        – การจ้างพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป ต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        – การจ้างพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ และระดับผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นไป ต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความสำคัญอย่างระมัดระวังจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน และเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัท
        9.2 หากจำเป็นต้องว่าจ้างพนักงานรัฐ บริษัทต้องมอบหมายหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักกฎหมายกลุ่ม สำนักกำกับดูแลกิจการและปฏิบัติงานกลุ่ม เป็นต้น ให้ทำการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการว่าจ้างดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
        9.3 กรณีพนักงานของบริษัทเข้าทำหน้าที่ด้านงานนโยบายของภาครัฐ บริษัทกำหนดให้พนักงานดังกล่าวห้ามกระทำการใดๆ ในทางที่จะก่อให้เกิดประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ขัดแย้ง เช่น การเปิดเผยความลับของบริษัท หรือการ Lobby เพื่อได้รับประโยชน์ในทางที่มิชอบ เป็นต้น
        9.4 ให้เปิดเผยข้อมูลการจ้างพนักงานรัฐ และพนักงานของบริษัทที่เข้าทำหน้าที่ด้านงานนโยบายของภาครัฐ ไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

 

    10. การขัดแย้งทางผลประโยชน์
        ให้ถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัติว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์

 

    11. วิธีปฏิบัติเมื่อพบการทุจริตคอร์รัปชัน
        11.1 เมื่อพนักงานผู้ใดพบเห็นหรือรู้เห็นการทุจริตคอร์รัปชัน หรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บริษัทย่อย หรือกิจการที่ควบคุมร่วมกัน พนักงานสามารถขอคำแนะนำ หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน โดยใช้หลักเกณฑ์ช่องทาง และวิธีการ ตามแนวปฏิบัติคณะกรรมการบริษัท ว่าด้วยเรื่อง ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ดังนี้

  • ทางไปรษณีย์ โดยส่งจดหมายมาที่ : ตู้ ปณ. 534 ปณจ. บางรัก กทม. 10500
  • ทางระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ส่งมาที่ e-mail address : ssigcg@ssi-steel.com

        11. 2 เมื่อผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทพบเห็นหรือรู้เห็นการทุจริตคอร์รัปชัน หรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บริษัทย่อย หรือกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ให้รายงานตามวิธีการที่กำหนดในประกาศบริษัท เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักตรวจสอบภายในและการตรวจสอบภายใน

    12. แนวปฏิบัตินี้ หากมีความไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัยในส่วนใด ตลอดจนมีปัญหาในการตีความให้เป็น อำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในการพิจารณา แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แนวปฏิบัตินี้ แล้วนำเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ