บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2556

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2556
  • รายได้รวม-ปริมาณผลิต HRC-ปริมาณส่งมอบ HRC รายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • รายได้ขายและบริการรวม 19,949 ล้านบาท
  • ขายเหล็กปริมาณรวม 944 พันตัน จากเหล็กแผ่นรีดร้อน 707 พันตัน และเหล็กแท่งแบนขายลูกค้าภายนอก 237 พันตัน
  • กำไรสุทธิของบริษัทฯ (งบเดี่ยว) 868 ล้านบาท และ ขาดทุนสุทธิของกลุ่มบริษัท (งบรวม) 778 ล้านบาท
  • Group EBITDA พลิกกลับเป็นบวก 800 ล้านบาท
  • ปลายไตรมาส 2/2556 เริ่มใช้งาน PCI ที่โรงถลุงเหล็ก ต้นทุนพลังงานลด-ผลผลิตสูง
งบการเงินเฉพาะบริษัท บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ว่า บริษัทฯมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 15,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาส 4/2555 และ ร้อยละ 35 จากงวดเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 1,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 329 จากไตรมาส 4/2555 และ ร้อยละ 177 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 422 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2555 และไตรมาส 1/2555 ตามลำดับ งบการเงินรวม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 19,949 ล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากไตรมาส 4/2555 และร้อยละ 27 จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากขายเหล็กรวม 944 พันตัน ประกอบด้วย 1) เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 707 พันตัน และ 2) เหล็กแท่งแบนที่ขายบุคคลภายนอก 237 พันตัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 35 จากปริมาณขายเหล็กแท่งแบนทั้งหมด โดยมีต้นทุนขายและให้บริการรวม 20,394 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มี EBITDA 800 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 778 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.03 บาทต่อหุ้น เทียบกับไตรมาส 4/2555 ที่มี EBITDA ติดลบ 2,078 ล้านบาท ผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 3,259 ล้านบาท และ ขาดทุนสุทธิ 0.14 บาทต่อหุ้น ในไตรมาส 1/2556 บริษัทฯได้สร้างสถิติใหม่ของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ 770 พันตัน ซึ่งคิดเป็นยอดการผลิตสุทธิ 764 พันตัน และมียอดส่งมอบ 707 พันตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส อันเป็นผลจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบจากการเชื่อมโยงธุรกิจเหล็กต้นน้ำ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จะพบว่าผลประกอบการของบริษัทฯ ดีขึ้น จากปริมาณขาย HRC ที่สูงขึ้นและการปรับตัวดีขึ้นของทั้ง HRC Rolling Margin และ Slab Margin แต่งบการเงินรวมยังมีผลขาดทุนอยู่ จากการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็กที่ยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุน
  • ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 15,626 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส ซึ่งเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products) ร้อยละ 35 ของยอดขายรวม มีกำไรสุทธิ 868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากขาดทุนสุทธิ 422 ในไตรมาส 4/2555
  • ธุรกิจโรงถลุงเหล็ก มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 10,819 ล้านบาท จากการขายเหล็กแท่งแบนรวมจำนวน 670 พันตัน โดยจำนวน 237 พันตัน หรือร้อยละ 35 เป็นการขายให้แก่บุคคลภายนอก มีผลขาดทุนสุทธิ 1,775 ล้านบาท
  • ธุรกิจท่าเรือน้ำลึก มีรายได้จากการให้บริการรวม 115 ล้านบาท ใกล้เคียงไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 46 ล้านบาท
  • ธุรกิจวิศวกรรมและซ่อมบำรุง มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 224 ล้านบาท คิดเป็นรายได้นอกกลุ่มเอสเอส ไอร้อยละ 60 มีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท
  • ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดเย็น มีรายได้จากการขายรวม 3,254 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 125 ล้านบาท
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า “ในไตรมาส 1/2556 กลุ่มบริษัทเอสเอสไอพลิกสถานการณ์กลับมาด้วย EBITDA ที่เป็นบวก 800 ล้านบาท หลังจากที่ EBITDA ติดลบติดต่อกันมา 7 ไตรมาส นอกจากนี้ เรายังทำสถิติสูงสุดในสามด้านด้วยกัน นั่นคือ รายได้รวมของกลุ่มบริษัทสูงสุด ปริมาณขายสูงสุดและปริมาณการผลิตสูงสุดในธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน ผลงานอันโดดเด่นนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งถึงผลประโยชน์จากวิสัยทัศน์ของเราในการเชื่อมโยงธุรกิจต้นน้ำ จะเห็นได้ว่าด้วยการใช้กำลังการผลิตเพียงแค่ ร้อยละ 76 สำหรับทรัพย์สินในประเทศไทย และร้อยละ 70 สำหรับทรัพย์สินที่ประเทศอังกฤษ เรายังมีโอกาสปรับปรุงเพื่อผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นได้อีกมาก เราอยู่ไม่ไกลจากขนาดธุรกิจที่จะคุ้มทุนและการสร้างผลกำไร สำหรับแนวโน้มระยะสั้นในไตรมาส 2/2556 เรามองเห็นปัจจัยลบจากสภาวะตลาดเหล็กชะลอตัวจากผลกระทบของวันหยุดสงกรานต์ในประเทศไทยและการอ่อนตัวลงของราคาเหล็กโลก ในขณะเดียวกันก็มองเห็นปัจจัยบวกจากราคาวัตถุดิบที่อ่อนตัวลงเช่นเดียวกัน และผลผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็กที่ดีขึ้น การเริ่มใช้งาน PCI ที่โรงถลุงเหล็กจะเป็นก้าวสำคัญ ที่จะทำให้ต้นทุนพลังงานลดลงและมีผลผลิตที่สูงขึ้นต่อไป สำหรับแนวโน้มระยะยาวนั้น เรายังคงมองเห็นความต้องการผลิตภัณฑ์ของเราในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตอย่างมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของหัวเมืองใหญ่และการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คืออุปทานของสินแร่เหล็กในขณะนี้อยู่ในทิศทางที่เอื้อต่อผู้ผลิตเหล็ก ซึ่งจะนำไปสู่อัตรากำไรที่ดีขึ้น”