บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2556 และงวดปี 2556

ไตรมาส 4/2556

  • รายได้ขายและบริการ 16,100 ล้านบาท  ลดลงจากไตรมาส 3 ร้อยละ 4
  • ปริมาณขายเหล็ก 796 พันตัน จากเหล็กแผ่นรีดร้อน 425 พันตัน และเหล็กแท่งขายลูกค้าภายนอก 371 พันตัน หรือ ร้อยละ 52 ของปริมาณขายเหล็กแท่งรวม
  • ขาดทุน 2,907  ล้านบาท EBITDA ติดลบ 1,464 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ร้อยละ 0.2 และร้อยละ 9 ตามลำดับ
  • ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนพลิกกลับมีกำไร 75 ล้านบาท ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ ร้อยละ 34
  • ธุรกิจโรงถลุงเหล็กขายลูกค้าภายนอก ร้อยละ 52  ขาดทุนสุทธิ 2,725 ล้านบาท

ประจำปี 2556

  • สร้างสถิติใหม่รายได้รวมของกลุ่ม 65,387 ล้านบาท ขายเหล็กรวม 3,243 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และร้อยละ 31 ตามลำดับ
  • ขาดทุน 7,053  ล้านบาท ลดลงร้อยละ 73 จากการผลิต-ขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก-ต้นทุนขายและให้บริการรวมลดลง EBITDA ติดลบ 2,888 ล้านบาท
  • ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนพลิกกลับมีกำไร 210  ล้านบาท มีรายได้  45,599 ล้านบาท ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ ร้อยละ 34
  • ธุรกิจโรงถลุงเหล็กขายลูกค้าภายนอก ร้อยละ 40  ขาดทุนสุทธิ 7,259 ล้านบาท ขาดทุนลดลงร้อยละ 49 เนื่องจากต้นทุนลดลง
  • ปี 2557 ตลาดเหล็กส่งสัญญาณขาขึ้น  ความต้องการเหล็กในประเทศ 18 ล้านตัน

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4/2556 และผลการดำเนินงานงวดประจำปี 2556 ดังนี้

ไตรมาส 4/2556

งบการเงินเฉพาะบริษัท – บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 8,995 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 36 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 425 พันตัน ลดลงร้อยละ 29 จากไตรมาสก่อน และ ร้อยละ 34 จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products) ร้อยละ 34 ของปริมาณขายรวม มีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท พลิกกลับจากขาดทุน 260 ล้านบาทในไตรมาส 3/2556 และจากขาดทุน 422 ล้านบาทในไตรมาส 4/2555
งบการเงินรวม – บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 16,100 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และรายได้จากการขายและให้บริการรวมลดลงร้อยละ 9 จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิ 2,907 ล้านบาท ใกล้เคียงกับขาดทุน 2,902 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2556 และลดลงจากขาดทุน 3,257 ล้านบาทในไตรมาส 4/2555

งวดปี 2556

งบการเงินเฉพาะบริษัท – บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 45,599 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขาย HRC 2,134 พันตัน ลดลงร้อยละ 2 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products) ร้อยละ 34 ของปริมาณขายรวม มีกำไรสุทธิ 210 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นจากผลขาดทุนสุทธิ 1,655 ล้านบาท ของปี 2555
งบการเงินรวม – บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 65,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากงวดเดียวกันปีของก่อน โดยมีต้นทุนขายและให้บริการรวม 70,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากงวดเดียวกันปีของก่อน มีผลขาดทุนสุทธิ 7,053 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากผลขาดทุนสุทธิ 15,918 ล้านบาทของปี 2555
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2556 ของบริษัทย่อยและกิจการที่ควบคุมร่วมกัน มีดังต่อไปนี้

  • ธุรกิจโรงถลุงเหล็ก มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 45,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากงวดเดียวกันปีของก่อน มีผลขาดทุนสุทธิ 7,259 ล้านบาท
  • ธุรกิจท่าเรือน้ำลึก มีรายได้จากการให้บริการรวม 394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อน เนื่องจากมีรายได้จากการให้บริการเครนหน้าท่า (PPC Shore Crane) ในปี 2556 เต็มปี มีกำไรสุทธิ 156 ล้านบาท
  • ธุรกิจวิศวกรรมและซ่อมบำรุง มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากปีก่อน เป็นรายได้นอกกลุ่มร้อยละ 53 และมีกำไรสุทธิ 49 ล้านบา
  • ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดเย็น มีรายได้จากการขายรวม 11,563 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 และมีกำไรสุทธิ 193 ล้านบาท

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า “ในไตรมาส 4/2556 เรามีรายได้รวมของกลุ่ม 16,100 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 จากผลกระทบจากเหตุการณ์การเมือง แต่ถึงแม้รายได้ของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนลดลงมาร้อยละ 27 จากผลกระทบดังกล่าว เราได้รับรายได้ทดแทนจากธุรกิจโรงถลุงเหล็กซึ่งขายเหล็กแท่งแบนให้แก่บุคคลภายนอกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 โดยเฉพาะสู่ตลาดอเมริกาเหนือซึ่งแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ตลาด (geographical market diversity) ซึ่งเป็นจุดแข็งหนึ่งของรูปแบบธุรกิจเราที่คนมักมองไม่เห็นได้เริ่มเข้ามามีบทบาท ทำให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงโดยกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดที่แข็งแกร่งกว่า เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนพลิกกลับมามีกำไรสุทธิจากการบริหารค่าการรีดที่ดีขึ้น ธุรกิจโรงถลุงเหล็กมีผลขาดทุนในระดับใกล้เคียงเดิมถึงแม้จะมีส่วนต่างราคาและปริมาณขายที่ดีขึ้น แต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปัญหาการผลิตของโรงไฟฟ้า ซึ่งเรากำลังซ่อมแซมจุดนี้อยู่

ในปี 2556 เราสามารถสร้างสถิติใหม่สำหรับรายได้รวมของกลุ่ม 65,387 ล้านบาท และปริมาณขายเหล็กรวม 3,243 พันตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และร้อยละ 31 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นผลจากการปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำมาสู่ผู้ผลิตเหล็กครบวงจร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเหล็กแท่งแบน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กของเรานั้น เป็นที่ต้องการในตลาดโลกอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณขายร้อยละ 40 หรือ 1,100 พันตัน เป็นการขายให้แก่บุคคลภายนอก นอกจากนี้ EBITDA รวมของกลุ่ม ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยลดลงร้อยละ 73 จากติดลบ 10,597 ล้านบาทในปี 2555 มาเป็นติดลบเพียง 2,888 ล้านบาทในปี 2556 สาเหตุหลักมาจาก 1) ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนได้พลิกมามีกำไร และ 2) ธุรกิจโรงถลุงเหล็กขาดทุนลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อปริมาณการผลิตสูงขึ้นและได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนต่อขนาดและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
“สำหรับแนวโน้มระยะสั้นในไตรมาส 1/2557 เราเห็นสภาวะตลาดที่แข็งแกร่งกว่าไตรมาสก่อน โดยตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเดือนต่อเดือน จากจุดต่ำสุดในเดือนพฤศจิกายนเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มปะทุ ตลาดเหล็กแท่งแบนทั่วโลกตึงตัวเมื่อปริมาณความต้องการจากภูมิภาคอเมริกาเหนือเริ่มมีมากขึ้น ขณะที่สินแร่เหล็กและถ่านโค้ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของเรา ยังคงได้รับแรงกดดันด้านราคาจากสถานการณ์อุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้อัตรากำไรของธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น คาดว่าผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็กจะน้อยลงอีก จากการที่เรามุ่งมั่นพยายามลดต้นทุน ทั้งจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กแท่งแบนและอัตราการใช้ PCI (PCI Injection Rate) และจากโครงการต่างๆ เพื่อปรับลดต้นทุน ที่เรากำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มระยะยาวสำหรับปี 2557 เรายังคงเชื่อมั่นที่จะเห็นธุรกิจของเราดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน ทั้งการเติบโตของยอดขาย การลดต้นทุน ส่วนต่างระหว่างราคาที่ดีขึ้น การขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ และ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นับเป็นเวลาเกือบสามปีที่เราได้ลงทุนเพื่อเป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจร ซึ่งเราแบกรับความยากลำบากมาพอสมควร ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะเก็บผลประโยชน์จากการเชื่อมโยงธุรกิจเหล็กครบวงจรนี้ ” นายวินกล่าว

บริษัทคาดการณ์ว่าการบริโภคเหล็กในปี 2557 จะปรับตัวสูงขึ้น โดย สถาบันเหล็กโลก (World Steel Association: WSA) ได้ประเมินว่า ในปี 2557 ความต้องการบริโภคสินค้าเหล็กของโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 หรือเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 1,523 ล้านตัน โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของความต้องการเหล็กของประเทศจีนในปี 2557 ยังคงคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.6 รวมถึงประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กหลักของโลกเช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล และกลุ่มสหภาพยุโรป สำหรับ อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า แนวโน้มระดับความต้องการบริโภคสินค้าเหล็กในปี 2557 จะเผชิญกับความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศและสภาวะตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง หากได้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐ ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้ ทั้งนี้ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2557 จะมีปริมาณการใช้เหล็ก 18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปี 2556